คุณรู้จัก “ชาเขียว” ดีแค่ไหน

ชาเขียว (Green tea) คือ ชาที่ได้มาจากต้นชา ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Camellia sinensis ซึ่งชาชนิดนี้จะไม่ผ่านขั้นตอนการหมักเลย เตรียมได้โดยการนำใบชาสดมาผ่านความร้อนเพื่อทำให้ใบชาแห้งอย่างรวดเร็ว ซึ่งวิธีการก็คือเมื่อเก็บใบชามาแล้วก็นำมาทำให้แห้งอย่างรวดเร็วในหม้อทองแดงโดยใช้ความร้อนไม่สูงเกินไปและใช้มือคลึงเบา ๆ ก่อนแห้ง หรืออบไอน้ำในระยะเวลาสั้น ๆ แล้วนำไปอบแห้งเพื่อยับยั้งการทำงานเอนไซม์ (ความร้อนจะช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ทำให้ไม่เกิดการสลายตัว) จึงได้ใบชาที่แห้งแต่ยังสดอยู่ และมีสีที่ค่อนข้างเขียว จึงเรียกกันว่า “ชาเขียว”

และการที่ใบชาที่ได้นั้นไม่ผ่านขั้นตอนการหมัก จึงทำให้ใบชามีสารประกอบฟีนอลหลงเหลืออยู่มากกว่าในอู่หลงและชาดำ (สองชนิดนี้คือชาที่ผ่านการหมัก) จึงทำให้ชาเขียวมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระมากกว่าชาทั้งสอง โดยชาเขียวจะมีสาร EGCG ประมาณ 35-50% ส่วนชาอู่หลงมีประมาณ 8-20% และชาดำจะมี EGCG อยู่เพียง 10%

เก็บใบชาอย่างไรให้ได้คุณภาพ

สำหรับชาเขียวที่มีคุณภาพนั้นจะได้จากใบชาคู่ที่หนึ่งและใบชาคู่ที่สองที่ทำการเก็บจากยอด ซึ่งชาคู่ที่หนึ่งและสองนั้นชาวจีนจะเรียกว่า บู๋อี๋ ส่วนใบชาคู่ที่สามและสี่จากยอดนั้น ชาวจีนจะเรียกว่า อันเคย และส่วนใบชาคู่ที่ห้าและหกจากปลายยอดจะจัดอยู่ในประเภทของชาชั้นเลว โดยที่ชาวจีนจะเรียกว่า ล่ำก๋อง ส่วนในเรื่องของกลิ่น สี และรสชาติของชาเขียวนั้นจะขึ้นอยู่กับปริมาณของสารคาเทชินที่มีอยู่ในชา และในส่วนของฤดูการเพาะปลูก รวมทั้งการเก็บเกี่ยว ก็จะมีผลต่อระดับของสารคาเทชิน ซึ่งสารชนิดนี้จะมีอยู่ประมาณ 12-13% ในช่วงที่อยู่ในฤดูใบไม้ผลิ แต่ในทางกลับกันในช่วงฤดูร้อนจะมีสารคาเทชินในชาอยู่ประมาณ 13-14% และสำหรับใบชาเขียวอ่อนจะมีสารคาเทชินอยู่มากกว่าใบชาเขียวแก่

ประโยชน์ของชาเขียว

สารอาหารสำคัญที่พบได้ในชาเขียว ได้แก่ วิตามินบี วิตามินซี วิตามินอี กรดอะมิโน และสารในกลุ่ม Xanthine alkaloids คือ คาเฟอีน (caffeine) และธิโอฟิลลีน (Theophylline) ซึ่งสารเหล่านี้คือสารที่มีฤทธิ์ในการกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง และยังมีสารที่อยู่ในกลุ่มฟลาโวนอยด์ ที่เรียกกันว่า คาเทชิน ซึ่งสารคาเทชินนั้นสามารถแยกออกเป็น 5 ชนิดด้วยกัน นั่นก็คือ Gallocatechin (GC), Epicatechin (EC), Epigallocatechin (EGC), Epicatechin gallate (ECG), และ Epigallocatechin gallate (EGCG) ซึ่งสามารถพบสารคาเทชินได้มากและมีฤทธิ์ที่ทรงพลังที่สุดในชาเขียว ที่เราเรียกกันว่า สารอีพิกัลโลคาเทชินกัลป์เลตที่เป็นสารที่มีความสำคัญในการออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

การดื่มชาเขียวให้ประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย เนื่องจากสารสำคัญในใบชาเขียวกลุ่มโพลีฟีนอล ที่ชื่อว่า คาเทชิน (Catechins) จะทำหน้าที่จับกับอนุมูลอิสระและขัดขวางการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นในร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงช่วยต้านโรคภัยได้มากมาย เช่น ป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และโรคมะเร็งได้

ประโยชน์ของชาเขียวกันมากกว่าที่คิด

  • ช่วยลดความอ้วน และช่วยลดไขมันในเลือด ชนิดไตรกลีเซอไรด์ลงได้อย่างลงตัว ด้วยกลไกของการกระตุ้นปฏิกิริยาออกซิเดชันของไขมัน ซึ่ง EGCG ช่วยเพิ่มกระบวนการ การเผาผลาญพลังงานของเนื้อเยื่อไขมัน
  • ช่วยลดอัตราการเกิดโรคเส้นเลือดอุดตัน สารสำคัญในชาเขียว คือ EGCG เป็นตัวยับยั้งการเกิด การสันดาป Oxidation ของโคเลสเตอรอล ซึ่งจะทำให้ลดการเกิด การสะสมสร้างตะกอน (Plaque) ในเส้นเลือดจากโคเลสเตอรอล ทำให้ลดการเกิดของเส้นเลือดแข็งตัวตีบตัน โดยผู้ที่ดื่มชาเขียว จะลดการเกิดโรคของเส้นเลือดทางสมอง หรือโรคเส้นโลหิตในสมอง แตก และเส้นเลือดสมองตีบได้
  • มีสารต้านอนุมูลอิสระ (Anti-oxidant) ซึ่งในชาเขียวมีผลต่อการยับยั้งและลดการเกิดมะเร็งได้หลายชนิดทั้งในคนและสัตว์ เพราะมีฤทธิ์ทางด้านการต้านอนุมูลอิสระอย่างมาก แม้จะมีจำนวนงานวิจัยที่จำกัด แต่ก็พบว่าการดื่มชาเขียวจะช่วย ลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งหลายชนิด อย่างโรคมะเร็งตับ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งลำไส้ และมะเร็งตับอ่อน
  • ชาเขียวช่วยทำให้เจริญอาหาร และ ช่วยบรรเทาอาการเมาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้สร่างเมาได้เร็วขึ้น

“ชาเขียว” ประโยชน์หลากหลาย ที่คุณไม่ควรพลาด

สารสกัดชาเขียวมีประสิทธิภาพในการต้านอนุมูลอิสระ ช่วยบำรุงผิวป้องกันการเกิดริ้วรอยเหี่ยวย่น รอยด่างดำบนใบหน้า ปรับสีผิวให้สม่ำเสมอและลดการอักเสบของผิว ปัจจุบันจึงมีผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับชาเขียววางจำหน่ายในหลากหลายรูปแบบ โดยผู้ผลิตได้คิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากชาเขียวหลั่งไหลออกมาสู่ท้องตลาดเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ถนอมผิว เครื่องสำอางต่างๆ สบู่ เกลืออาบน้ำ น้ำยาดับกลิ่นกาย ครีมบำรุงผิว โลชั่น ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก ฯลฯ ชาเขียวยังนิยมนำมาใช้ เพื่อปรุงแต่งกลิ่น สี และรสชาติของอาหาร เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภคอีกด้วย