ชาเขียว สรรพคุณที่รู้แล้วต้อง… ว๊าวววว

คุณรู้จัก “ชาเขียว” ดีแค่ไหน

ชาเขียว (Green tea) คือ ชาที่ได้มาจากต้นชา ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Camellia sinensis ซึ่งชาชนิดนี้จะไม่ผ่านขั้นตอนการหมักเลย เตรียมได้โดยการนำใบชาสดมาผ่านความร้อนเพื่อทำให้ใบชาแห้งอย่างรวดเร็ว ซึ่งวิธีการก็คือเมื่อเก็บใบชามาแล้วก็นำมาทำให้แห้งอย่างรวดเร็วในหม้อทองแดงโดยใช้ความร้อนไม่สูงเกินไปและใช้มือคลึงเบา ๆ ก่อนแห้ง หรืออบไอน้ำในระยะเวลาสั้น ๆ แล้วนำไปอบแห้งเพื่อยับยั้งการทำงานเอนไซม์ (ความร้อนจะช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ทำให้ไม่เกิดการสลายตัว) จึงได้ใบชาที่แห้งแต่ยังสดอยู่ และมีสีที่ค่อนข้างเขียว จึงเรียกกันว่า “ชาเขียว”

และการที่ใบชาที่ได้นั้นไม่ผ่านขั้นตอนการหมัก จึงทำให้ใบชามีสารประกอบฟีนอลหลงเหลืออยู่มากกว่าในอู่หลงและชาดำ (สองชนิดนี้คือชาที่ผ่านการหมัก) จึงทำให้ชาเขียวมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระมากกว่าชาทั้งสอง โดยชาเขียวจะมีสาร EGCG ประมาณ 35-50% ส่วนชาอู่หลงมีประมาณ 8-20% และชาดำจะมี EGCG อยู่เพียง 10%

เก็บใบชาอย่างไรให้ได้คุณภาพ

สำหรับชาเขียวที่มีคุณภาพนั้นจะได้จากใบชาคู่ที่หนึ่งและใบชาคู่ที่สองที่ทำการเก็บจากยอด ซึ่งชาคู่ที่หนึ่งและสองนั้นชาวจีนจะเรียกว่า บู๋อี๋ ส่วนใบชาคู่ที่สามและสี่จากยอดนั้น ชาวจีนจะเรียกว่า อันเคย และส่วนใบชาคู่ที่ห้าและหกจากปลายยอดจะจัดอยู่ในประเภทของชาชั้นเลว โดยที่ชาวจีนจะเรียกว่า ล่ำก๋อง ส่วนในเรื่องของกลิ่น สี และรสชาติของชาเขียวนั้นจะขึ้นอยู่กับปริมาณของสารคาเทชินที่มีอยู่ในชา และในส่วนของฤดูการเพาะปลูก รวมทั้งการเก็บเกี่ยว ก็จะมีผลต่อระดับของสารคาเทชิน ซึ่งสารชนิดนี้จะมีอยู่ประมาณ 12-13% ในช่วงที่อยู่ในฤดูใบไม้ผลิ แต่ในทางกลับกันในช่วงฤดูร้อนจะมีสารคาเทชินในชาอยู่ประมาณ 13-14% และสำหรับใบชาเขียวอ่อนจะมีสารคาเทชินอยู่มากกว่าใบชาเขียวแก่

ประโยชน์ของชาเขียว

สารอาหารสำคัญที่พบได้ในชาเขียว ได้แก่ วิตามินบี วิตามินซี วิตามินอี กรดอะมิโน และสารในกลุ่ม Xanthine alkaloids คือ คาเฟอีน (caffeine) และธิโอฟิลลีน (Theophylline) ซึ่งสารเหล่านี้คือสารที่มีฤทธิ์ในการกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง และยังมีสารที่อยู่ในกลุ่มฟลาโวนอยด์ ที่เรียกกันว่า คาเทชิน ซึ่งสารคาเทชินนั้นสามารถแยกออกเป็น 5 ชนิดด้วยกัน นั่นก็คือ Gallocatechin (GC), Epicatechin (EC), Epigallocatechin (EGC), Epicatechin gallate (ECG), และ Epigallocatechin gallate (EGCG) ซึ่งสามารถพบสารคาเทชินได้มากและมีฤทธิ์ที่ทรงพลังที่สุดในชาเขียว ที่เราเรียกกันว่า สารอีพิกัลโลคาเทชินกัลป์เลตที่เป็นสารที่มีความสำคัญในการออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

การดื่มชาเขียวให้ประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย เนื่องจากสารสำคัญในใบชาเขียวกลุ่มโพลีฟีนอล ที่ชื่อว่า คาเทชิน (Catechins) จะทำหน้าที่จับกับอนุมูลอิสระและขัดขวางการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นในร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงช่วยต้านโรคภัยได้มากมาย เช่น ป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และโรคมะเร็งได้

ประโยชน์ของชาเขียวกันมากกว่าที่คิด

ช่วยลดความอ้วน และช่วยลดไขมันในเลือด ชนิดไตรกลีเซอไรด์ลงได้อย่างลงตัว ด้วยกลไกของการกระตุ้นปฏิกิริยาออกซิเดชันของไขมัน ซึ่ง EGCG ช่วยเพิ่มกระบวนการ การเผาผลาญพลังงานของเนื้อเยื่อไขมัน
ช่วยลดอัตราการเกิดโรคเส้นเลือดอุดตัน สารสำคัญในชาเขียว คือ EGCG เป็นตัวยับยั้งการเกิด การสันดาป Oxidation ของโคเลสเตอรอล ซึ่งจะทำให้ลดการเกิด การสะสมสร้างตะกอน (Plaque) ในเส้นเลือดจากโคเลสเตอรอล ทำให้ลดการเกิดของเส้นเลือดแข็งตัวตีบตัน โดยผู้ที่ดื่มชาเขียว จะลดการเกิดโรคของเส้นเลือดทางสมอง หรือโรคเส้นโลหิตในสมอง แตก และเส้นเลือดสมองตีบได้
มีสารต้านอนุมูลอิสระ (Anti-oxidant) ซึ่งในชาเขียวมีผลต่อการยับยั้งและลดการเกิดมะเร็งได้หลายชนิดทั้งในคนและสัตว์ เพราะมีฤทธิ์ทางด้านการต้านอนุมูลอิสระอย่างมาก แม้จะมีจำนวนงานวิจัยที่จำกัด แต่ก็พบว่าการดื่มชาเขียวจะช่วย ลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งหลายชนิด อย่างโรคมะเร็งตับ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งลำไส้ และมะเร็งตับอ่อน
ชาเขียวช่วยทำให้เจริญอาหาร และ ช่วยบรรเทาอาการเมาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้สร่างเมาได้เร็วขึ้น

“ชาเขียว” ประโยชน์หลากหลาย ที่คุณไม่ควรพลาด

สารสกัดชาเขียวมีประสิทธิภาพในการต้านอนุมูลอิสระ ช่วยบำรุงผิวป้องกันการเกิดริ้วรอยเหี่ยวย่น รอยด่างดำบนใบหน้า ปรับสีผิวให้สม่ำเสมอและลดการอักเสบของผิว ปัจจุบันจึงมีผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับชาเขียววางจำหน่ายในหลากหลายรูปแบบ โดยผู้ผลิตได้คิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากชาเขียวหลั่งไหลออกมาสู่ท้องตลาดเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ถนอมผิว เครื่องสำอางต่างๆ สบู่ เกลืออาบน้ำ น้ำยาดับกลิ่นกาย ครีมบำรุงผิว โลชั่น ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก ฯลฯ ชาเขียวยังนิยมนำมาใช้ เพื่อปรุงแต่งกลิ่น สี และรสชาติของอาหาร เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภคอีกด้วย